สหภาพพม่า(Union of Myanmar)
ข้อมูลทั่วไป
เมืองหลวง กรุงเนปิดอว์
พื้นที่ 657,740 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1.3 เท่าของไทย)
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจีน (2,185 กิโลเมตร)
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับลาว (235 กิโลเมตร) และไทย (2,401 กิโลเมตร)
ทิศตะวันตกติดกับอินเดีย (1,463 กิโลเมตร) และบังกลาเทศ (193 กิโลเมตร)
ทิศใต้ติดกับทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล
ประชากร 50.2 ล้านคน (2547) มีเผ่าพันธุ์ 135 เผ่าพันธุ์ ประกอบด้วย เชื้อชาติหลัก ๆ 8 กลุ่ม คือพม่า (ร้อยละ 68) ไทยใหญ่ (ร้อยละ 8) กะเหรี่ยง (ร้อยละ 7) ยะไข่ (ร้อยละ 4) จีน (ร้อยละ 3) มอญ (ร้อยละ 2) อินเดีย (ร้อยละ 2)
ศาสนา ศาสนาพุทธ (ร้อยละ 90) ศาสนาคริสต์ (ร้อยละ 5) ศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 3.8) ศาสนาฮินดู (ร้อยละ 0.05)
ดอกไม้ประจำชาติ ดอกประดู่ (Paduak)
ภาษาราชการ ภาษาพม่า
รูปแบบการปกครอง เผด็จการทางทหาร ปกครองโดยรัฐบาลทหารภายใต้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council – SPDC)โดยมีประธาน SPDC เป็นประมุขประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
- ประธาน SPDC พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (Senior General Than Shwe) (เมษายน 2535)
- นายกรัฐมนตรี พลเอก โซ วิน (General Soe Win) (19 ตุลาคม 2547)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายญาณ วิน(U Nyan Win) (18 กันยายน 2547)
เขตการปกครอง แบ่งการปกครองเป็น 7 รัฐ (state) สำหรับเขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และ 7 ภาค (division) สำหรับเขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายพม่า
การเมืองการปกครอง
การเมือง
รัฐบาลพม่าซึ่งมีแกนนำมาจากนายทหารที่เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2531 ยังคงมี
การปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างเข้มงวด และยังไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับแม้คณะนายทหารยืนยันตลอดมาว่าจะอยู่ในอำนาจเป็นการชั่วคราวเพื่อวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน แต่ก็อยู่ในอำนาจมาแล้วถึง 17 ปีเต็ม ในปัจจุบันแกนนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ โดยเฉพาะ นางออง ซาน ซู จี เลขาธิการพรรคฯ และยังมีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่อีกประมาณ 1,300 – 1,400 คน ขณะที่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวพม่าในต่างประเทศอีกนับหมื่นคน
หลังจากประชาคมระหว่างประเทศได้กดดันและใช้มาตรการลงโทษ (sanction) พม่าอย่างหนัก และหลายฝ่ายรวมทั้งประเทศไทยได้พยายามโน้มน้าวรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพม่าได้ดำเนินการเพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศอยู่บ้าง โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 รัฐบาลพม่าได้ประกาศ “Roadmap towards Democracy” ของพม่าซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตยของพม่า 7 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การฟื้นฟูการประชุมสมัชชาแห่งชาติ (National Convention) เพื่อวางหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2) การดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนที่จำเป็นเพื่อการมีประชาธิปไตยที่มีวินัยอย่างแท้จริง (genuine disciplined democracy) (3) การยกร่างรัฐธรรมนูญ (4) การจัดลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ (5) การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา (6) การจัดประชุมรัฐสภา (7) การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเพื่อให้เป็นไปตาม Roadmap ดังกล่าวรัฐบาลพม่าได้จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 และได้มีการประชุมไปแล้วสามวาระ (วาระแรก ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 9 กรกฎาคม 2547 และวาระที่สอง ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2548 และวาระที่ 3 ระหหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2548 – 31 มกราคม 2549) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักการประชุม โดยรัฐบาลพม่าประกาศว่าจะจัดการประชุมอีกครั้งในราวเดือนปลายปี 2549
อย่างไรก็ดี การดำเนินการตาม Roadmap ของพม่าก็มิได้เป็นไปโดยราบรื่น โดยเฉพาะการที่รัฐบาลพม่าจัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติขึ้นโดยไม่มีผู้แทนพรรค NLD เข้าร่วม การที่นางออง ซาน ซู จี ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และที่สำคัญคือ การปลดพลเอก ขิ่น ยุ้น ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญในกระบวนการ Roadmap ออกจากตำแหน่งในรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรัฐบาลพม่ามีท่าทีแข็งกร้าวต่อชนกลุ่มน้อย พรรค NLD และประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตของ Roadmap
เศรษฐกิจ
รัฐบาลพม่าประกาศนโยบายตั้งแต่เข้ายึดอำนาจการปกครองใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจพม่าจากระบบวางแผนส่วนกลาง (centrally-planned economy) เป็นระบบตลาดเปิดประเทศรองรับและส่งเสริมการลงทุนจากภายนอก ส่งเสริมการส่งออก การท่องเที่ยว และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของพม่าไม่คืบหน้า รัฐบาลพม่าไม่ได้ดำเนินการในทิศทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ รัฐบาลยังคงคุมและแทรกแซงภาคการผลิตต่าง ๆ อย่างเข้มงวด มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนบ่อยครั้ง อาทิ เมื่อปี 2546 รัฐบาลพม่าได้ประกาศให้ทำการค้าข้าวโดยเสรี แต่ในปี 2547 ได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวเป็นเวลา 6 เดือน
ปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลพม่ายังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่สำคัญเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาค แต่พยายามเร่งการพัฒนาภาคการเกษตร การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การนำทรัพยากรมาใช้ (โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและพลังน้ำ) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านเกษตรกรรม รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญต่อการผลิตและส่งออกผลผลิตถั่ว ข้าว ยางพารา ฯลฯ โดยสภาการค้า (Trade Council) ภายใต้การกำกับการของรองพลเอกอาวุโส หม่อง เอ ได้ปรับระบบการส่งออกถั่วขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและจูงใจให้เกษตรกร ขยายการเพาะปลูก และรัฐบาลพม่าพยายามส่งเสริมโครงการปลูกข้าวเพื่อการส่งออก แม้ได้เปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้กลับไปกลับมาหลายครั้ง แต่ล่าสุดได้หันมาส่งเสริมเรื่องนี้ โดยเมื่อกลางปี 2548 ได้อนุญาตให้ภาคเอกชนทำการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกอีก 30 บริษัท นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังให้ความสำคัญต่อพืชเศรษฐกิจรายการใหม่ ๆ อาทิ ถั่วแมคคาเดเมีย โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมที่โครงการพัฒนาดอยตุงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 และขอให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงส่งเมล็ดแมคคาเดเมีย 4.5 ตันไปปลูกในรัฐฉานของพม่า
การลงทุนด้านพลังงานในพม่าเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของพม่าในปี 2547 – 2548 รัฐบาลพม่าได้ลงนามการสำรวจก๊าซธรรมชาติกับบริษัทเอกชนต่างประเทศหลายราย อาทิ จีน ไทย (ปตท.สผ.) อินเดีย และสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบันการลงทุนด้านพลังงานในพม่ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 88 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในพม่า มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 และ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 นอกจากนั้น รัฐบาลพม่าเตรียมจะเปิดพื้นที่แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลให้เอกชนต่างชาติลงทุนสำรวจและขุดเจาะเพิ่มอีก 13 แปลง (ยังคงสงวนแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบนบกไว้สำหรับวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่า) ขณะเดียวกัน ก็เริ่มความร่วมมือด้านไฟฟ้าพลังน้ำกับไทยและจีน ซึ่งเป็นโครงการที่พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
สังคม
นโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรมของพม่าให้ความสำคัญต่อการยกระดับจิตใจและศีลธรรมของประชาชน การรักษาเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมประจำชาติและเน้นความรักชาติ รัฐบาลพม่าไม่ส่งเสริมให้ประชาชนพม่ารับวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกมีการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีข้อเปรียบเทียบกับความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของประชาชนประเทศอื่น ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลพม่าสามารถควบคุมและปกครองประเทศได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
นโยบายต่างประเทศ
โดยรวม นโยบายต่างประเทศของพม่าเป็นไปตามแนวทางที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2491 และปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) รักษาหลัก 5 ประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (1. การเคารพเอกราชและอธิปไตย 2. การไม่รุกราน 3. การไม่แทรกแซงกิจการภายใน 4. การรักษาผลประโยชน์ร่วมกันและเท่าเทียมกัน 5. การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ)
2) รักษาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับทุกประเทศโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน
3) สนับสนุนสหประชาชาติและองค์กรของสหประชาชาติ
4) ดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีในกรอบของนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ
5) ประสานงานและร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจและสังคม
6) ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อสันติภาพของโลกและความมั่นคง ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม อาณานิคม และอาณานิคมในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการแทรกแซงกิจการภายในและการมีอำนาจเหนือรัฐอื่น และเพื่อความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจ
7) ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อการพัฒนาประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด
ในปัจจุบัน พม่าให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน รัฐบาลพม่ายืนกรานที่จะดำเนินการทางการเมืองตามแนวทางของตน ไม่ให้ฝ่ายใดเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายใน ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่จะเอื้อประโยชน์ต่อพม่า โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเพื่อเป็นพันธมิตรในการรับมือกับแรงกดดันจากประเทศตะวันตก
สถานการณ์ที่สำคัญ
กระบวนการปรองดองแห่งชาติ
อนาคตของกระบวนการปรองดองแห่งชาติและ Roadmap ของรัฐบาลพม่ายังไม่ชัดเจน หลายฝ่ายยังสงสัยในเหตุผลของรัฐบาลพม่าที่จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติแบบ “ปิด ๆ เปิด ๆ” และควบคุมกระบวนการพิจารณาของสมัชชาแห่งชาติอย่างเข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่าง ๆ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ การปฏิเสธที่จะให้ความกระจ่างว่าขณะนี้กระบวนการ Roadmap มาถึงขั้นตอนใดและจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยดังกล่าว นอกจากนั้น รัฐบาลพม่าได้ปิดช่องทางในการติดต่อพูดจากับโลกภายนอกในเรื่องกระบวนการทางการเมืองภายในของตน รัฐบาลพม่าต้องการให้ไทยหยุดการดำเนินการในเรื่องการหารือกับประชาคมระหว่างประเทศในกรอบ “Bangkok Process” ที่ไทยริเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2546 และให้สหประชาชาติ ยุติความเคลื่อนไหวในการส่งเสริมกระบวนการปรองดองภายในพม่า
ในการประชุม 3 รอบที่ผ่านมา สมัชชาแห่งชาติได้เห็นชอบหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 50-70 ของงานที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด
ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพนั้น ประเด็นสำคัญคือกำหนดให้มีผู้แทนของกองทัพ ร้อยละ 20 ในสภาสูง และร้อยละ 25 ในสภาผู้แทนราษฎร สงวนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวงไว้ให้ผู้แทนของกองทัพ (ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน) ประธานาธิบดีจะต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานกองทัพ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉิน
ในส่วนที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีรัฐ (state) และเขตปกครองตนเอง (autonomous region) แต่ละรัฐ และเขตปกครองตนเองจะมีมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีสภาท้องถิ่นซึ่งมีผู้แทนของกองทัพอยู่ร้อยละ 25 รัฐบาล รัฐและเขตปกครองตนเองมีอำนาจในการบริหารกิจการท้องถิ่น และที่สำคัญคือให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยวางอาวุธ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเชื่อกันว่ากระบวนการพิจารณาของสมัชชาแห่งชาติจะได้ข้อยุติแล้วเสร็จเมื่อใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างมากและการหาข้อยุติในปัญหาการปกครองพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ ฝ่ายชนกลุ่มน้อยไม่พอใจท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ในเรื่องนี้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเพื่อหาข้อยุติกับชนกลุ่มน้อยในเรื่องนี้
ในการเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ผู้นำพม่ากล่าวยืนยันกับนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่ารัฐบาลพม่าจะดำเนินตาม Roadmap ตามแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพม่าเอง โดยจะดำเนินการ 3 ประการในการวางรากฐานของประชาธิปไตยของพม่า ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง (2) การพัฒนาเศรษฐกิจ (3) การศึกษา พร้อมกับย้ำว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องกระบวนการ (process) ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา
อนึ่ง หลังจากที่ถูกกดดันจากประเทศตะวันตกมาตลอด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่าได้ประกาศในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 38 ที่เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 ว่าพม่าขอถอนตัวจากการเป็นประธานอาเซียนในปี 2549 โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลพม่าต้องการมุ่งดำเนินการในเรื่องกระบวนการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าพม่าสามารถกลับมาเป็นประธานอาเซียนเมื่อใดก็ได้เมื่อมีความคืบหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพพม่า
ด้านการทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2491 และมีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2492 ไทยและพม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน โดยมีความสัมพันธ์กว้างขวางในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบัน นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่าและนายเย วิน (U Ye Win) เป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย
ด้านการเมืองและความมั่นคง
ไทยและพม่ามีกลไกความร่วมมือทวิภาคี ได้แก่
(1) คณะกรรมาธิการร่วมไทย-พม่า (Thailand – Myanmar Joint Commission on Bilateral Cooperation – JC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในภาพรวม ได้จัดการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 7-9 มกราคม 2545 ที่จังหวัดภูเก็ต
(2) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee – JBC) ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนร่วมกัน โดยประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2548 โดยมี ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-พม่าฝ่ายไทย และนายหม่อง มิ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่าเป็นประธานฝ่ายพม่า
(3) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee – RBC) ซึ่งแม่ทัพภาคที่สามของไทยและแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน โดยประชุมครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2548 ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานของพม่า
ด้านเศรษฐกิจ
(1) ความร่วมมือด้านการค้า
ไทยและพม่ามีกลไกความร่วมมือในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-พม่า (Joint Trade Commission – JTC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน โดยได้ประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 ที่กรุงย่างกุ้ง
ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของพม่า โดยในปี 2548 มีมูลค่าการค้ารวม จำนวน 100,316.5 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 27.2) โดยไทยนำเข้า 71,915.9 ล้านบาท และส่งออกไปพม่า 28,400.6 ล้านบาท ทำให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 43,515.3 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากพม่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง ไม้แปรรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ เหล็กและเหล็กกล้า และถ่านหิน
สำหรับการค้าชายแดนไทย – พม่า ในปี 2548 มีมูลค่าการค้ารวม 88,614.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 67,668 ล้านบาทในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 30.95) ไทยส่งออก 23,046.53 ล้านบาท และนำเข้า 65,567.79 ล้านบาท โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้า 42,521.26 ล้านบาท (เนื่องจากไทยต้องชำระค่าก๊าซธรรมชาติแก่พม่า)
(2) ด้านการลงทุน
ในปัจจุบัน ภาคเอกชนไทยลงทุนในพม่ารวมทั้งสิ้น 56 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1,345.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 17.28 ของการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าทั้งหมด โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนในพม่าสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากอังกฤษ ( 40 โครงการ 1,569.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสิงคโปร์ (70 โครงการ 1,434.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การลงทุนของไทยในพม่าที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนในสาขาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ประมง อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม
ไทยและพม่าได้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันเมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2548 ที่กรุงเทพฯ โดยสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในทุกข้อบทในร่างความตกลงฯ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและพม่าได้ร่วมลงนามย่อในร่างความตกลงฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะนำร่างความตกลงฯ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและลงนามต่อไป
(3) ความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในโครงการต่าง ๆ
(4) ความร่วมมือในกรอบ ACMECS
ในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) ไทยและพม่ามีความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ (1) การท่องเที่ยว โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างภาคใต้ของไทย-เมืองทวายในพม่า (2) อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพม่าที่เมืองเมียวดี เมาะลำใย และพะอัน โดยในชั้นนี้เห็นชอบกันที่จะเริ่มดำเนินการที่เมียวดีก่อน (3) พลังงาน มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2548 และการลงนามบันทึกความเข้าใจในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สาละวิน ฮัจจี และตะนาวศรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 และ (4) เกษตรกรรม ซึ่งมีการจัดทำ Contract Farming ที่เมืองเมียวดี โดยร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะผู้แทนไทยไปหารือกับทางการพม่าเรื่องโครงการ Contract Farming ที่กรุงย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2548 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้วงเงินสินเชื่อ (credit line) จำนวน 4,000 ล้านบาทสำหรับพม่าในการซื้อเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาประเทศ จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ไทยได้อนุมัติเบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 70 หรือประมาณ 2,800 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2547 ไทยได้ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าจากพม่าซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรทั้งในรูปของการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (ASEAN Integration System of Preferences – AISP) และยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าในลักษณะ One Way Free Trade รวมจำนวน 461 รายการ และเพิ่มเป็น 850 รายการในปี 2548
ด้านวัฒนธรรม สังคมและสาธารณสุข
โดยที่ไทยและพม่ามีพรมแดนติดต่อกันและประชาชนของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา ในภาพรวม รัฐบาลไทยและพม่าได้ลงนามในความตกลงทางวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2542 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ โครงการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายแก่วัดในพม่าซึ่งกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 10 การเชิญผู้สื่อข่าวพม่าเยือนประเทศไทย การสนับสนุนการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยภาษา ต่างประเทศของพม่า การจัดโครงการวาดเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยในหมู่เยาวชนพม่า เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ายังสามารถสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศาสนาเพิ่มเติมได้อีกเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศมากขึ้น
ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อพม่า (และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ) เป็นลำดับแรกในโครงการความร่วมมือทางวิชาการ โดยไทยให้ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม/ดูงาน การจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษาแนะนำในด้าน ต่าง ๆ ใน 3 สาขาหลัก คือ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งสาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน โดยตั้งแต่ปี 2540-2547 ไทยให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่พม่าเป็นจำนวนเงิน 92.45 ล้านบาท สำหรับปี 2548 ไทย ให้ความช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติในไทยจำนวน 164 ทุน นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2545 รัฐบาลไทยยังได้เริ่มให้การสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับครูประถมศึกษาจากพม่าในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเกษตรและโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียนในไทยและการส่งคณะเจ้าหน้าที่ไทยไปติดตามผลการประชุมเชิงปฏิบัติการในสหภาพพม่า
ในด้านความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อปี 2544 รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในโครงการพัฒนาหมู่บ้านยองข่าในรัฐฉาน (เขตของว้า) ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเลือก (alternative development) โดยนำโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นแบบอย่างเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนพม่าให้เลิกการปลูกฝิ่น และมีการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกพืชผล การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล การสาธารณสุข ฯลฯ (วงเงิน 50 ล้านบาท) แต่ภายหลังการปลดพลเอก ขิ่น ยุ้น โครงการดังกล่าวได้รับผลกระทบและหยุดชะงักไป
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลพม่าในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวพม่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 รัฐบาลไทยได้บริจาคข้าวสาร 1,000 ตันผ่านองค์การอาหารโลก (World Food Program – WFP) มูลค่า 10.54 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการยุติการปลูกฝิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น