มาเลเซีย

มาเลเซีย(Malaysia)



มาเลเซีย(Malaysia)
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อประเทศ - มาเลเซีย
ที่ตั้ง - ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ประกอบด้วย11 รัฐ คือ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เประ กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เกดะห์ และปะลิส มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์ และซาราวัก นอกจากนี้ยังมีเขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐ อีก 3 เขต คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน
พื้นที่ - 128,430 ตารางไมล์ (329,758 ตารางกิโลเมตร)
เมืองหลวง - กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur)
เมืองราชการ - เมืองปุตราจายา (Putrajaya)
ภูมิอากาศ - ร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส
ประชากร 26.24 ล้านคน (ปี 2549)
ภาษา มาเลย์ (Bahasa Malaysia เป็นภาษาราชการ) อังกฤษ จีน ทมิฬ
ศาสนา อิสลาม (ศาสนาประจำชาติ ร้อยละ 60.4) พุทธ (ร้อยละ 19.2) คริสต์ (ร้อยละ 11.6) ฮินดู (ร้อยละ 6.3) อื่น ๆ (ร้อยละ 2.5)
ดอกไม้ประจำชาติ ดอกพู่ระหง (Bunga Raya)
หน่วยเงินตรา ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 3.20 ริงกิต /1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.42 บาท/1 ริงกิต)
ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)

ระบบการปกครอง 

                (1) สหพันธรัฐ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang-diPertuan Agong) เป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 แห่ง (ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง สลังงอร์ เกดะห์ กลันตัน เนกรีเซมบิลัน เประ และปะลิส) และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี
                (2) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ และมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar ในกรณีที่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือ Chief Minister ในกรณีที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ) เป็นหัวหน้ารัฐบาลแห่งรัฐ
ประมุขสมเด็จพระราชาธิบดี Al-Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin ibni Al-Marhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah จากรัฐตรังกานู ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 ของมาเลเซีย
(ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2549)

การเมืองการปกครอง
การเมือง 

                พรรค UMNO มีแนวนโยบายบริหารประเทศเน้นชาตินิยมแต่ไม่รุนแรง สนับสนุนชาวมาเลย์ให้มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แนวนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศหลัก ๆ สรุปได้ดังนี้
                1. ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะประเทศตะวันตก
                2. พยายามเข้าไปมีบทบาทนำในอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อเป็นพลังต่อรองกับประเทศตะวันตกในเวทีระหว่างประเทศ
                3. พัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของประเทศตะวันตกมีแนวดำเนินการของตนเองและให้ความสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญ
                หลังจาก ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2546 ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 มาเลเซียจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (หลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547) ซึ่งผลปรากฏว่า พรรค UMNO และกลุ่มพรรคแนวร่วมแห่งชาติ Barison Nasional (BN) ภายใต้การนำของดาโต๊ะซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ได้รับชัยชนะเหนือพรรคร่วมฝ่ายค้าน (BA) ซึ่งมีพรรค PAS เป็นแกนนำ โดยได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 2 ใน 3
                พรรคฝ่ายค้านยังคงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจและเสถียรภาพของรัฐบาล แม้การก้าวลงจากอำนาจของ ดร.มหาธีร์ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมของประชาชนต่อพรรค UMNO ในระดับหนึ่ง แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2547 แสดงให้เห็นว่า พรรค UMNO ยังคงสามารถเป็นแกนนำของกลุ่ม BN ในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ประเด็นที่จะบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของพรรครัฐบาลและพรรค UMNO ที่สำคัญได้แก่ ความแตกแยกภายในพรรค UMNO เอง ซึ่งยังคงมีอยู่ในระดับหนึ่งอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ภายในพรรค แม้ว่าจะไม่ปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งที่แจ้งชัด
                เมื่อวันที่ 13-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 พรรค UMNO ได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคสมัยสามัญประจำปี 2549 โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะหัวหน้าพรรค UMNO ได้รายงานผลงานและความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค UMNO ว่า (1) ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้แก่ประชาชน อาทิ การนำเสนอมาตรการในแผนพัฒนามาเลเซีย ฉบับที่ 9 (2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษา (3) ย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการสร้างแหล่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (4) ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคราชการ (5) รัฐบาลได้เปิดกว้างรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นทั้งจาก ส.ส. และจากประชาชน (6) ใช้แนวทางทางการทูตและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และย้ำว่าชาวมุสลิมควรปรองดองกัน (7) ส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติ (8) ย้ำหลักการอิสลามสายกลาง หรือ Islam Hadhari
                ที่ประชุมพรรค UMNO ยืนยันให้การสนับสนุนหัวหน้าพรรค แต่หลีกเลี่ยงการกล่าวโจมตี ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรค UMNO ที่ในระยะหลังมีความคิดขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (ตุน ดร.มหาธีร์ฯ มิได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพราะอยู่ในช่วงพักรักษาตัวจากโรคหัวใจ) แม้พรรค UMNO จะสนับสนุนคนเชื้อสายมาเลย์ แต่พรรคก็ต้องระมัดระวังในการรักษาความสมดุลระหว่างคนเชื้อชาติอื่น ๆ ในมาเลเซียด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ในการอภิปรายระหว่างการประชุมครั้งนี้ สมาชิกบางกลุ่มได้กล่าวโจมตีสิทธิของคนเชื้อชาติอื่น ๆ ทำให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวในวันปิดประชุมว่าสมาชิกพรรคต้องคำนึงถึงสิทธิของคนเชื้อชาติต่างๆ อย่างเป็นธรรม

นโยบายความมั่นคงของมาเลเซีย ได้แก่

                1. ดำเนินยุทธศาสตร์ทางการเมืองโดยยึดอาเซียนเป็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ เพื่อให้มีการรับรองและปฏิบัติอย่างจริงจังที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออก/ตะวันตก เป็นดินแดนที่เป็นกลางและสันติสุข ทั้งนี้เพื่อให้มาเลเซียปลอดภัยจากการรุกรานจากภายนอก
                2. แสวงหามิตรประเทศที่มีศักยภาพทางทหารอย่างเพียงพอที่จะป้องปรามการกระทำใด ๆ อันจะกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของมาเลเซียตลอดจนการเตรียมกองทัพให้ทันสมัยมีอานุภาพ
เพียงพอที่จะป้องกันประเทศในระยะต้นก่อนการช่วยเหลือจากมิตรประเทศ
                3. พัฒนากองทัพ โดยเฉพาะกองกำลังภาคพื้นดินให้เข้มแข็ง เน้นขีดความสามารถในการทำสงครามตามแบบ (conventional) เพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก
                4. ปรับปรุงกองกำลังทางเรือให้สามารถป้องกันการแทรกซึม และการยกพลขึ้นบก ตลอดจนปราบปรามการลักลอบค้าของหนีภาษี และการลักลอบทำประมงในน่านน้ำ
                ในอนาคตอันใกล้ ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่ามาเลเซียจะมีความขัดแย้งกับต่างประเทศจนถึงกับต้องใช้กำลังทหารในการเผชิญหน้า เนื่องจากมาเลเซียย้ำเสมอว่าต้องการใช้กรอบเจรจาทางการทูตมากกว่าการใช้กำลังพล แต่อาจจะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบเข้าเมือง การลักลอบค้าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมาเลเซียพยายามจะใช้การเจรจาทวิภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจ  มาเลเซียมีนโยบายทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้
                1) เปิดรับการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2563 (Vision 2020) ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัดตั้งเป้าหมายไว้
                2) ใช้นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์และโอกาสทางการค้าแก่ประเทศ
                3) ขยายการติดต่อด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรป อาทิ มาเลเซียในฐานะประธานองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of Islamic Conference – OIC) ให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก OIC (รวม 57 ประเทศ) โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ธนาคารอิสลาม การศึกษา และการท่องเที่ยว
                มาเลเซียยังได้วางนโยบายเศรษฐกิจสืบต่อจาก Vision 2020 คือนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติ (National Vision Policy: NVP) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างมาเลเซียให้เป็น “ประเทศที่มีความยืดหยุ่นคงทนและมีความสามารถในการแข่งขัน” โดยจะลดความสำคัญของการลงทุนที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่ยั่งยืนและขาดประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญต่อประเด็นใหม่คือ การเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม โดยจะเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้าและวิจัย (R & D) และเทคโนโลยีสูง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge-based economy) กระตุ้นและเพิ่มพลวัตรของภาคการเกษตร การผลิต และการบริการโดยการใช้ความรู้และเทคโนโลยีวิทยาการ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภูมิบุตร ในภาคเศรษฐกิจชั้นนำ และปรับให้มีการพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับสังคมบนฐานความรู้ (knowledge-based society)ในช่วงที่ผ่านมามาเลเซียมีความสัมพันธ์ด้านการเมืองที่ไม่ราบรื่นนักกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศตะวันตกมองว่ารัฐบาลมาเลเซียมักใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน (Internal Security Act - ISA) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มาเลเซียถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในประเทศ และประเทศตะวันตกมักใช้ double standard ในการดำเนินนโยบายกับประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ด้านการเงินและการคลังที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในปัจจุบัน เป็นผลจากการเปิดเสรีด้านการเงินและการคลัง ซึ่งประเทศตะวันตกผลักดันอย่างแข็งขัน
                อย่างไรก็ดี ในด้านเศรษฐกิจมาเลเซียมีการติดต่อการค้า การลงทุน การศึกษาที่ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความผูกพันในสมัยอาณานิคมซึ่งส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว
                แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในปี 2545 แต่ความสำเร็จดังกล่าวยังมีอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ แฝงอยู่ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของมาเลเซียโดยรวมได้ อาทิ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าในเบื้องต้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่หากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากเช่นกันต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบันใช้งานไม่ถึงครึ่งของขีดความสามารถและยังไม่สามารถดึงดูดให้สายการบินหลักมาใช้ โครงการก่อสร้างเมืองราชการที่ปุตราจายาซึ่งยังไม่สามารถดึงประชาชนและภาคธุรกิจเข้าไปร่วมอย่างเต็มที่ โครงการ Cyberjaya ซึ่งยังไม่สามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำของโลกให้เข้ามาลงทุนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เป็นต้น
                เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย) ได้ประกาศแผนงบประมาณประจำปี 2550 (Budget 2007) ซึ่งให้ผลประโยชน์แก่ข้าราชการ เด็ก สตรี และคนชรา สนับสนุนมาตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและคมนาคม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่าแผนงบประมาณประจำปี 2550 ได้พยายามลดภาระความยากลำบากของประชาชนในยามที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ขึ้นเงินเดือน แต่ได้เพิ่มมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่นการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ งบประมาณประจำปี 2550 สูงกว่าปี 2549 ร้อยละ 16.5 โดยกำหนดไว้ที่ 159.4 พันล้านริงกิต (หรือ 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและด้านโครงสร้างพื้นฐาน (คิดเป็น 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต (3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และด้านกลาโหม (1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรงบประมาณ 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือสำหรับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
                ในการนี้ รัฐบาลมาเลเซียคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.8 (เดิมรัฐบาลประมาณการณ์ว่าจะเป็นร้อยละ 6)  รัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2549-2553) ในวันที่ 31 มีนาคม 2549 ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นระยะที่สองของ Vision 2020 โดยมีหลักการสำคัญได้แก่
                (1) มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการกระจายรายได้และโอกาสอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างชนบทและในเมือง และระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียกับรัฐซาบาห์และซาราวัก
                (2) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามามีส่วนร่วมในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น ภาคเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการศึกษา
                (3) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยมุ่งเน้นการคิดค้นใหม่ ๆ
                (4) ปรับปรุงบริการของภาครัฐและลดต้นทุนการทำธุรกิจในมาเลเซีย

นโยบายต่างประเทศ

                เดิมนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และผลประโยชน์ที่สำคัญอื่น ๆ แต่เมื่อดาโต๊ะ ซรี ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อปี 2524 นโยบายต่างประเทศมาเลเซียได้เน้นความสำคัญด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มแข็ง (strong and nationalistic defense) เพื่อรักษาผลประโยชน์ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (south-south cooperation) มาเลเซียเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่ประเทศกำลังพัฒนา และอาจเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันและความขัดแย้งในการแย่งชิงตลาดและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมาเลเซียเห็นว่าสหประชาชาติต้องเตรียมรับมือกับประเด็นดังกล่าวที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ในอนาคต
                มาเลเซียเห็นว่าหลักการ Islam Hadhari หรืออิสลามสายกลางจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพระหว่างประเทศ เพราะหลักการดังกล่าวเน้นการสร้างความก้าวหน้าและการพัฒนาโดยส่งเสริมการศึกษา การแสวงหาความรู้ และการใช้หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนา นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวในหลายวาระโอกาสว่ามาเลเซียเป็นพหุสังคมที่ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเพราะเข้าใจคุณค่าของความแตกต่างซึ่งเป็นจุดแข็งข้อหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ซึ่งประชาคมโลกน่าจะทำความเข้าใจในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันมิให้ช่องว่างระหว่างโลกมุสลิมและโลกตะวันตกขยายตัวขึ้น
                ในช่วงที่ผ่านมากล่าวได้ว่ามาเลเซียประสบความสำเร็จในเวทีระหว่างประเทศอย่างสูง โดยสามารถสร้างบทบาทให้เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำประเทศกำลังพัฒนาและเป็นประเทศมุสลิมสายกลางซึ่งมีแนวนโยบายสอดคล้องกับประเทศตะวันตกในเรื่องของการต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้มาเลเซียสามารถมีบทบาทนำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ทั้งในกรอบของโลกมุสลิมและโลกตะวันตก
                ปัจจุบันมาเลเซียยังคงเป็นประธานองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference - OIC)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

1. ด้านการทูต
                ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์คนปัจจุบันคือ นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง (สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู) และมีสถานกงสุลประจำเกาะลังกาวี (ซึ่งมีดาโต๊ะ ชาซรีล เอสเคย์ บิน อับดุลลาห์ กงสุลกิตติมศักดิ์เป็นหัวหน้าสำนักงาน) สำหรับหน่วยงานของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ภายใต้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน ส่วนหน่วยงานของไทยอื่นๆ ที่ตั้งสำนักงานในมาเลเซียคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย สำหรับหน่วยงานของมาเลเซียในไทยได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย (เอกอัครราชทูตมาเลเซียคนปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ ชารานี บิน อิบราฮิม) และสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา

2. ด้านการเมือง
                ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้พัฒนาแน่นแฟ้นจนมีความใกล้ชิดกันมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายประการ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับพระราชวงศ์ชั้นสูง รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่แม้ว่าสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ก็ยังคงมีประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ ซึ่งต้องร่วมมือกันแก้ไข อาทิ การปักปันเขตแดนทางบก บุคคลสองสัญชาติ การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
                นโยบายของไทยต่อมาเลเซียเน้นมุ่งส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้ความสัมพันธ์ทุกระดับงอกงามอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล เคารพซึ่งกันและกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ดี เพราะเหตุการณ์ในประเทศหนึ่งย่อมจะส่งผลเกื้อหนุนหรือกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3. ด้านเศรษฐกิจ
                • ด้านการค้า ในปี 2550 การค้าไทย-มาเลเซียมีมูลค่า 16,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า 826.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา สินค้านำเข้าจากมาเลเซียที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบและแร่เชื้อเพลิง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์
                • ด้านการลงทุน ในปี 2550 นักลงทุนมาเลเซียได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวน 33 โครงการ (จาก 38 โครงการที่ยื่นขอ) คิดเป็นมูลค่า 11,566 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 53.6 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
• ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2550 นักท่องเที่ยวมาเลเซียมาไทย 1.2 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียประมาณ 600,000 คน (สถิติในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2550)

4. สังคมและวัฒนธรรม
                • ด้านสังคม ไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกันในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการไปมาหาสู่ กันในฐานะเครือญาติและเพื่อนฝูง ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือกันทั้งในด้านการค้าและด้านอื่น ๆ ทั้งสองประเทศมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือด้านการบริหารจัดการสัญจรข้ามแดนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่และส่งเสริมการติดต่อด้านการค้าและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังอนุญาตให้คนถือสัญชาติของอีกฝ่ายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใช้บัตรผ่านแดนซึ่งออกให้โดยหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของแต่ละฝ่ายแทนการใช้หนังสือเดินทางเพื่อผ่านด่านพรมแดนระหว่างกันได้
                • ด้านศาสนาและวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำศาสนาอิสลาม ทั้งในระดับจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนา ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหาร จัดการโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและวิทยาลัยอิหม่าม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกิจการศาสนาอิสลาม
                • ด้านวิชาการ ทั้งสองประเทศมีการประชุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันเพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ Economic Planning Unit (EPU) ของมาเลเซียเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ความร่วมมือในกรอบทวิภาคีที่ฝ่ายไทยให้แก่ฝ่ายมาเลเซีย ได้แก่ การจัดหลักสูตรประจำปี (Annual International Training Course: AITC) หลักสูตรศึกษานานาชาติ (Thai International Postgraduate Programme: TIPP) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Technical Cooperation Among Development Country: TCDC) และยังร่วมกันจัดการฝึกอบรมให้กับประเทศที่สาม (Third Country Training Programme: TCTP) ส่วนมาเลเซียได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการให้ทุนฝึกอบรมประจำปีภายใต้โครงการ Malaysia Technical Cooperation Programme (MTCP) ในสาขาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อให้คัดเลือกผู้ไปรับการฝึกอบรมที่มาเลเซีย โดยในช่วง พ.ศ. 2540-2548 มีชาวไทยได้รับทุนดังกล่าวรวม 165 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น